เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 สำนักข่าวท้องถิ่นญี่ปุ่น Nikkei รายงานว่าความต้องการจ้างงานแรงงานต่างชาติมีการแข่งขันกันสูงในภาคธุรกิจโรงแรมของญี่ปุ่น เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะพุ่งสูงขึ้นในปี 2568 ซึ่งมีสาระสำคัญของรายงานข่าวโดยสรุป ดังนี้
- โรงแรม Tokyu Resorts & Stays วางแผนที่จะรับแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยเริ่มจากจำนวนประมาณ 120 คน เป็น จำนวน 580 คน ภายในปี 2576 เพื่อรองรับการเปิดโรงแรมและรีสอร์ทแห่งใหม่ ซึ่งการพึ่งพาการจ้างแรงงานชาวญี่ปุ่นที่สำเร็จการศึกษาใหม่อย่างเดียวอาจจะไม่ตอบสนองต่อความต้องการกำลังแรงงานของภาคธุรกิจได้ โดยที่ผ่านมาโรงแรม Tokyu ได้จ้างแรงงานทักษะเฉพาะชาวต่างชาติจากประเทศฟิลิปปินส์และเมียนมา และกำลังวางแผนที่จะรับแรงงานทักษะเฉพาะจากประเทศอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซียและเนปาล เพื่อมาทำงานตำแหน่งผู้ปรุงอาหารและพนักงานเสิร์ฟในภัตตาคารของโรงแรม นอกจากนี้ โรงแรม Tokyu ยังมีมาตรการรักษาลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างชาติ เช่น รีสอร์ทในจังหวัดนากาโน่ได้ทำการปรับปรุงหอพักของพนักงานให้เป็นสถานที่สำหรับการฝึกปฎิบัติงานไปพร้อมการทำงานจริง (On the Job Training: OJT) และติดตั้งอินเตอร์เน็ตไร้สายเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถใช้บริการอินเตอร์เน็ตได้อย่างสะดวกสบายในช่วงพักเบรค
- โรงแรม Seibu Prince Hotels Worldwide มีเป้าหมายที่จะจ้างงานแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 ภายในปีงบประมาณนี้ และจะรับผู้ฝึกงานเพื่อให้ทำงานเต็มเวลา (Full time) โดยมีสวัสดิการมอบให้
แรงงานต่างชาติด้วย เช่น ค่าครองชีพจำนวน 20,000 เยนต่อเดือน และค่าเดินทางไปและกลับประเทศชั่วคราวจำนวนสูงสุดถึง 100,000 เยนต่อปี - บรรดาโรงแรมต่าง ๆ ยังมีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้แก่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างชาติ เพื่อให้สามารถสื่อสารวัฒนธรรมท้องถิ่นญี่ปุ่นให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างถ่องแท้ เช่น โรงแรม Shizukuishi Prince Hotel ตั้งอยู่ในจังหวัดอิวาเตะ จัดรอบรมเรียนรู้เกี่ยวกับความพิเศษของราเม็งท้องถิ่นและพาเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย
- โรงแรมในเครือ Fujita Kanko มีเป้าหมายที่จะจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นให้ได้ร้อยละ 10 ของพนักงานทั้งหมดในปี 2571 พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้กับแรงงานต่างชาติด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนทุกครั้ง
ที่มีการต่อวีซ่าจำนวน 4,000 เยน - Mori Trust ซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์คาดการณ์ว่าภายในปี 2567 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเป็น 38% หรือราว 34.5 ล้านคน นับเป็นสถิติสูงที่สุด
เป็นประวัติการณ์ และแม้ว่าความต้องการที่พักจะเพิ่มขึ้น แต่โรงแรมบางแห่งขาดแคลนพนักงาน จึงไม่สามารถเปิดให้บริการได้เต็มที่ จากข้อมูลของภาครัฐที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่าเมื่อเดือนมิถุนายน 2567
ภาคอุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหารมีการจ้างแรงงานทั้งหมดจำนวน 4 ล้านคน แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าการจ้างแรงงานในปี 2562 ก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งมีจำนวนถึง 4.21 ล้านคน - เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 สมาคมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำให้รัฐบาลทบทวนขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบงานของตำแหน่งงานที่เป็นพนักงานโรงแรมภายใต้ระบบแรงงานทักษะเฉพาะ เนื่องจาก พนักงานโรงแรมเป็นตำแหน่งงานที่ให้ความสำคัญกับการให้บริการลูกค้าผู้เข้าพัก ไม่ใช่การให้บริการแบบทั่วไป ประกอบกับการทดสอบรับรองคุณวุฒิสาขาที่พักโรงแรมมีข้อจำกัดเนื่องจากจัดทดสอบได้เพียงบางประเทศ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เมียนมา และเวียดนาม อีกทั้งกรณีที่แรงงานต่างชาติซึ่งมีใบรับรองคุณวุฒิเฉพาะสาขาบริการด้านอาหาร เมื่อมาทำงานในประเทศญี่ปุ่น จะถูกจำกัดให้ทำงานเฉพาะในร้านอาหารเท่านั้น
- Miwako Date ประธาน Mori Trust มีความเห็นว่าระบบแรงงานทักษะเฉพาะเป็นระบบที่มีความซับซ้อนและไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมโรงแรมได้ดีเท่าที่ควร จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมโรงแรมไม่มีแรงจูงใจที่จะจ้างแรงงานต่างชาติ ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องมีการสร้างระบบการรับแรงงานต่างชาติเพื่อมาทำงานในตำแหน่ง “พนักงานโรงแรม” ในรูปแบบแพ็กเกจที่สามารถรองรับการความต้องการแรงงานดังกล่าว
- นอกจากนี้การเพิ่มค่าจ้างให้กับลูกจ้างของภาคอุตสาหกรรมการโรงแรมยังเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญในการจัดการกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากรายได้ของภาคอุตสาหกรรมการโรงแรม
มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2566 ค่าจ้างเฉลี่ยของพนักงานในอุตสาหกรรมการโรงแรมและร้านอาหารอยู่ที่จำนวน 259,000 เยนต่อเดือน ซึ่งต่ำที่สุดของทุกภาคอุตสาหกรรม
ถึงแม้ว่าสมาพันธ์ลูกจ้างภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการญี่ปุ่นได้กำหนดเป้าหมายระยะกลางของค่าจ้างรายปีของพนักงานโรงแรมที่มีอายุ 35 ปี ไว้ที่ 5,500,000 เยน แต่เป้าหมายดังกล่าวยังไม่สามารถทำให้บรรลุได้ นอกจากนี้ Asuka Sakurada ประธานสมาพันธ์ฯ กล่าวว่าสภาพแวดล้อมการทำงานในภาคอุตาสหกรรมการท่องเที่ยวยังดีไม่เท่ากับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งสมาพันธ์ฯ ตั้งใจที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้นเพื่อให้สามารถแข่งขันกับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในการดึงดูดแรงงานที่มีทักษะ (Talent) ให้เข้ามาทำงานเพื่อจะได้สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไป
จากข้อมูลสถิติของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2566 พบว่ามีแรงงานไทยทำงานในภาคอุตสาหกรรมการโรงแรมและบริการร้านอาหาร จำนวน 3,685 คน
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะเฉพาะ ผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค และ แรงงานฝีมือ สำหรับแรงงานไทยที่จะมาทำงานในภาคอุตสาหกรรมการโรงแรมและบริการร้านอาหารด้วยวีซ่าแรงงานทักษะเฉพาะจะต้องสอบผ่าน
การทดสอบมาตรฐานตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนด ดังนี้
(1) ผ่านการทดสอบภาษาญี่ปุ่น กล่าวคือ กรณีเป็นการทดสอบภาษาญี่ปุ่นพื้นฐานของ Japan Foundation Test for Basic Japanese (JFT-Basic) จะต้องผ่านเกณฑ์ระดับ A2 หรือ กรณีเป็นการทดสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น Japanese Language Proficiency Test (JLPT) จะต้องผ่านเกณฑ์ระดับ N4 ขึ้นไป
(2) กรณีสาขาการโรงแรมจะต้องสอบผ่านทักษะสาขาการโรงแรม โดยมีผลคะแนนการสอบร้อยละ 65 ขึ้นไป ซึ่งผู้เข้าสอบสามารถศึกษารายละเอียดการสอบจากเว็บไซต์ https://www.prometric-jp.com/th/ssw/test_list/archives/12 ปัจจุบันยังไม่มีศูนย์การทดสอบที่ประเทศไทย
(3) กรณีสาขาบริการร้านอาหารจะต้องสอบผ่านทักษะสาขาบริการร้านอาหาร โดยมีผลคะแนนการสอบร้อยละ 65 ขึ้นไป ซึ่งผู้เข้าสอบสามารถศึกษารายละเอียดการสอบจากเว็บไซต์ https://www.prometric-jp.com/th/ssw/test_list/archives/4 โดยมีศูนย์การทดสอบอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต วิทยาเขตร่มเกล้า กรุงเทพมหานคร
อ้างอิง: https://asia.nikkei.com/Spotlight/Japan-immigration/Japan-hotels-scramble-for-foreign-workers-as-tourists-flood-country