Skip to main content

หน้าหลัก

แนวโน้มและโอกาสของแรงงานไทย

แนวโน้มการจ้างงาน

     -สถิติจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ ของประเทศญี่ปุ่นล่าสุด  ณ เดือนตุลาคม ๒๕๖๑ รายงานว่า มีการจ้างแรงงานต่างชาติจำนวน ๑,๔๖๐,๔๖๓ คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ๑๘๑,๗๙๓ คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๔.๒ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี

     -แรงงานต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่นสูงสุดใน ๕ อันดับแรก คือ จีน (๓๘๙,๑๑๗ คน) เวียดนาม (๓๑๖,๘๔๐ คน)  ฟิลิปปินส์ (๑๖๔,๐๐๖ คน)  บราซิล (๑๒๗,๓๙๒ คน)  เนปาล (๘๑,๕๖๒ คน )  สำหรับประเทศไทยไม่มีการจัดลำดับเนื่องจากมีจำนวนน้อย

       จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น

-ณ เดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ มีจำนวนแรงงานไทยทำงานในญี่ปุ่นประมาณ ๒๐,๓๖๕ คน เป็นแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย ๑๓,๕๐๕ คน ผิดกฎหมาย ๖,๘๖๐ คน (ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น)

-แรงงานไทยที่เดินทางเข้าเมืองถูกกฎหมายมี ๒ รูปแบบ ได้แก่

๑) แรงงานฝีมือ (ซึ่งแจ้งการเดินทางมาทำงานด้วยตนเอง เช่น ศิลปิน ผู้เชี่ยวชาญ  ครู วิศวกร พ่อครัว/แม่ครัว เป็นต้น) มีประมาณ ๔,๘๖๑ คน

๒) ผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิค ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่จัดส่งโดยบริษัทจัดหางานและกระทรวงแรงงาน มีจำนวนประมาณ ๘,๖๔๔ คน(ประเทศไทยมีจำนวนผู้ฝึกงาน เป็นลำดับที่ ๕ รองจาก เวียดนาม จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย)

๒. การเปิดรับแรงงานต่างชาติเพิ่มเติมในประเทศญี่ปุ่น

-เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๑ รัฐสภาญี่ปุ่นได้ผ่านร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้สามารถอนุญาตให้แรงงานต่างชาติที่ไม่ใช่แรงงานฝีมือเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้ (เดิมเข้ามาได้เฉพาะในสถานะผู้ฝึกงานเทคนิค) ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศญี่ปุ่น กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๒ สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

      -ภายใต้กฎหมายการเปิดรับแรงงานต่างชาติรูปแบบใหม่นี้ แรงงานต่างชาติในสาขาอาชีพที่มีความขาดแคลนในญี่ปุ่น (ในเบื้องต้นกำหนดไว้ ๑๔ สาขาอาชีพ) จะสามารถพำนักได้ภายใต้ ๒ สถานะ กล่าวคือ ๑) สถานะเทคนิคพิเศษแบบที่ ๑ ซึ่งสามารถทำงานและพำนักในญี่ปุ่นได้ไม่เกิน ๕ ปี แบบต่อเนื่อง  แต่ไม่สามารถนำครอบครัวมาพำนักอาศัยด้วยได้ และ ๒) สถานะเทคนิคพิเศษแบบที่ ๒ ซึ่งสามารถทำงานและพำนักในญี่ปุ่นได้ต่อเนื่องแบบไม่มีกำหนด โดยสามารถนำครอบครัวมาพำนักอาศัยด้วยได้ ทั้งนี้ แรงงานต้องผ่านการทดสอบในด้านต่างๆ โดยผลการสอบจะกำหนดประเภทและสถานะการพำนัก

   -มีการประมาณการว่าในอีก ๕ ปีข้างหน้านี้ จะมีการรับแรงงานในระบบใหม่จำนวน  ๓๔๕,๑๕๐ คน โดยแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่นจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานต่าง ๆ ที่จะทดสอบแรงงาน และรายละเอียดลักษณะงานหลักที่ทำในแต่ละสาขาอาชีพ ดังตาราง 

กระทรวงที่ดูแล

ประเภทงาน

จำนวนคนที่รับ

ลักษณะงานหลัก

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ

บริบาล

๖๐,๐๐๐

ดูแลให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุในการอาบน้ำและทานอาหาร โดยปกติแล้วจะไม่มีการให้เข้าไปดูแลที่บ้าน

ทำความสะอาดอาคาร

๓๗,๐๐๐

ทำความสะอาดอาคาร

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม

งานผลิตชิ้นส่วนโลหะอุตสาหกรรม

๒๑,๕๐๐

งานหล่อ, งานขึ้นรูป, งานกดโลหะ

งานผลิตเครื่องจักร

๕,๒๕๐

งานกดโลหะ, งานเชื่อม, งานหล่อพลาสติก

งานเกี่ยวกับไฟฟ้า

๔,๗๐๐

งานประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, งานเชื่อม, งานหล่อพลาสติก

กระทรวงที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค คมนาคม และการท่องเที่ยว

งานก่อสร้าง

๔๐,๐๐๐

งานสร้างโครงไม้, งานโบกปูน, งานที่ใช้เครื่องจักรในการก่อสร้าง, งานเหล็กเสริมคอนกรีต

งานต่อเรือเดินสมุทร/

งานเกี่ยวเนื่องเรือเดินสมุทร

๑๓,๐๐๐

งานเชื่อม, งานทาสี, งานแปรรูปเหล็ก, งานนั่งร้าน, งานกัดกลึง

งานบำรุงรักษารถยนต์

๗,๐๐๐

งานบำรุงรักษาและตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์แบบวันต่อวัน, งานถอดประกอบ

งานภาคพื้นสนามบิน

๒,๒๐๐

งานสนับสนุนภาคพื้นเครื่องบิน. งานขนย้ายกระเป๋าและสัมภาระ

งานด้านที่พัก

๒๒,๐๐๐

งานต้อนรับลูกค้า,งานบริการลูกค้า, งานบริการด้านร้านอาหาร

กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง

งานเกษตร

๓๖,๕๐๐

งานจัดการด้านเกษตร, จำแนกและจัดส่งผลผลิตด้านการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์

งานประมง

๙,๐๐๐

งานประมงที่ใช้เรือจับปลา,การเลี้ยงสัตว์น้ำ

งานผลิตวัตถุดิบอาหาร/เครื่องดื่ม

๓๔,๐๐๐

งานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ยกเว้นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

งานร้านอาหาร

๕๒,๐๐๐

งานเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม, งานบริการลูกค้า, งานจัดการบริหารร้าน

 ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวสรุปได้ดังนี้

   ๑) รัฐบาลญี่ปุ่นได้วางแผนที่จะนำระบบการทดสอบเพื่อรับแรงงานตามระบบวีซ่าชนิดใหม่ (วีซ่าเทคนิคพิเศษแบบที่ ๑) ในสาขาที่มีความพร้อมที่จะทดสอบใน ๓ สาขาอาชีพ ได้แก่ งานด้านบริบาล  งานด้านที่พัก และงานร้านอาหาร โดยทั้ง ๓ สาขานี้อาจจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๒ สำหรับอีก ๑๑ สาขาที่เหลือจะเริ่มทยอยดำเนินการเมื่อมีความพร้อม

       ๒) ผู้ที่เดินทางเข้ามาทำงานด้วยระบบการเป็นผู้ฝึกงานเดิมหากฝึกงานครบ ๓ ปี จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องผ่านการทดสอบและสามารถเปลี่ยนวีซ่าจากระบบผู้ฝึกงานเป็นวีซ่าทำงานแบบใหม่ได้ ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๒

ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผู้ฝึกงานจำนวนมากได้รับการปรับเปลี่ยนสถานะของวีซ่า โดยเฉพาะผู้ฝึกงานในภาคเกษตรและภาคการก่อสร้าง

       ๓) สำหรับวีซ่าเทคนิคพิเศษแบบที่ ๒ ซึ่งในหลักการต้องเป็นผู้ที่มีทักษะในระดับสูง อาจจะเริ่มจาก ๒ สาขาอาชีพ ได้แก่ งานก่อสร้างและงานต่อเรือ อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในเรื่องนี้

       -เว็บไซด์กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น ได้ลงข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบภาษาญี่ปุ่นและการทดสอบทักษะด้านอาชีพสำหรับแรงงานต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในญี่ปุ่น ตามวีซ่าเทคนิคพิเศษแบบที่ ๑  สรุปได้ว่า

             ๑) ด้านภาษาญี่ปุ่น จะต้องผ่านมาตรฐานระดับ N๔ ขึ้นไป (เป็นมาตรฐานภาษาญี่ปุ่นที่มีอยู่เดิม โดยจะแบ่งเป็น ๕ ระดับ ระดับ ๑ สูงสุด ระดับ ๕ ต่ำสุด) หรือผ่านการทดสอบ/ประเมินทักษะภาษาญี่ปุ่น ตามที่รัฐบาลจะได้กำหนด (ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ในระหว่างการกำหนดแบบทดสอบขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อใช้ทดสอบกับแรงงานที่จะนำเข้าด้วยวีซ่าระบบใหม่นี้ โดยอาจนำไปทดสอบในประเทศต้นทาง)

             ๒) ด้านทักษะอาชีพ จะต้องผ่านการทดสอบ/ประเมินทักษะตามลักษณะงานหลักของแต่ละประเภทงานที่จะเข้ามาทำงาน (รายละเอียดประเภทงานและลักษณะงานตามข้อมูลข้างต้น)

 ๓. โอกาสของแรงงานไทย

            ระบบวีซ่าทำงานใหม่นี้ เป็นมาตรการที่รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการเพื่อปิดช่องว่างในระบบการรับแรงงานต่างชาติด้วยระบบการฝึกงานแบบเดิม เนื่องจากในระบบการฝึกงาน เมื่อครบกำหนด (สูงสุดไม่เกิน ๕ ปี) จะไม่สามารถกลับเข้ามาด้วยวีซ่าผู้ฝึกงานได้อีก ทำให้นายจ้างที่ประสงค์จะรับแรงงานต่อเนื่องไม่สามารถทำได้ แต่ด้วยวีซ่าระบบใหม่นี้ นายจ้างจะสามารถรับแรงงานทำงานได้อย่างต่อเนื่อง หากแรงงานสามารถสอบผ่านมาตรฐานที่ทางญี่ปุ่นกำหนด

              สิ่งที่แรงงานไทยต้องเตรียมพร้อม ได้แก่

                -ทักษะด้านภาษาญี่ปุ่น เนื่องจากจะต้องสอบวัดระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่นตามมาตรฐานที่ประเทศญี่ปุ่นจะกำหนด ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียดขั้นตอนการจัดสอบ

                -ทักษะด้านอาชีพที่จะเข้าสอบ ใน ๑๔ กลุ่มสาขาอาชีพที่จะมีการเปิดรับสมัคร

                ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่

                -ปัญหาการหลอกลวงแรงงานเข้ามาทำงาน  โดยอาจใช้ช่องทางการชักจูงผ่าน สื่อโซเชียล


6668
TOP