Skip to main content

หน้าหลัก

ตลาดแรงงานไทย


ตลาดแรงงานไทยในญี่ปุ่น

– การจ้างแรงงานต่างชาติในประเทศญี่ปุ่น

                      (๑) แรงงานฝีมือ (Skilled Labour)

                            ประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานได้ ๑๕ ประเภทงาน ได้แก่

                      ๑) ศาสตราจารย์  

                      ๒) ศิลปิน

                      ๓) ผู้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา

                      ๔) ผู้เชี่ยวชาญ (Highly Skilled)

                      ๕) นักลงทุน / ผู้บริหาร

                      ๖) ผู้ให้บริการทางการแพทย์

                      ๗) นักวิจัย

                      ๘) ครู / ผู้สอน

                      ๙) วิศวกร / ผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษย์ศาสตร์และกิจการต่างประเทศ

                      ๑๐) ผู้ที่ทำงานกับบริษัทสาขาในต่างประเทศ

                      ๑๑) นักแสดง

                      ๑๒) แรงงานฝีมือ เช่น พ่อครัว แม่ครัว ควาญช้าง ผู้ฝึกสอนมวยไทย เป็นต้น

                      ๑๓) นักข่าว นักหนังสือพิมพ์

                      ๑๔) นักกฎหมาย นักบัญชี

                       ๑๕) ผู้บริบาล (เฉพาะนักศึกษาที่จบสาขาอาชีพบริบาลและเปลี่ยนวีซ่าจาก”นักศึกษา”)

                            จากรายงานสถิติคนต่างชาติขึ้นทะเบียนพำนักต่อกรมตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น ณ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ มีชาวต่างชาติทำงาน ๑๔ ประเภทดังกล่าว จำนวน ๕๕๔,๐๘๔ คน (ผู้ฝึกงานด้านเทคนิค ๓๒๘,๓๖๐คนและอื่นๆ ๒๒๕,๗๒๔ คน)

                      (๒) ผู้ฝึกงานด้านเทคนิค (Technical Intern Trainee)

                            ประเทศญี่ปุ่นเปิดรับผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคต่างชาติ (Technical Intern Trainee) มาฝึกปฏิบัติงาน (ทำงาน) ระบบ ๑ ปี และระบบ ๕ ปี (ขึ้นอยู่กับประเภทงาน) ระบบที่อยู่ทำงานได้ ๕ ปี มี ๘๐ สาขาช่าง ๑๔๔ ลักษณะงาน ผู้ฝึกปฏิบัติงานกลุ่มนี้สามารถเข้ามาฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

                            ระบบการรับผู้ฝึกงานมี ๒ ระบบ คือ

                        ๑) ระบบผ่านองค์กรรับ (Supervising Organization) ซึ่งรวมถึง IM Japan ด้วย

                        ๒) ระบบบริษัทแม่ในญี่ปุ่นที่มีสาขาลูกในต่างประเทศเป็นผู้รับเอง

                                  จากรายงานสถิติคนต่างชาติขึ้นทะเบียนพำนักต่อสำนักควบคุมคนเข้าเมืองและสถานะพำนัก กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ มีชาวต่างชาติเป็นผู้ฝึกงานทั้ง ๒ ระบบดังกล่าว จำนวน ๓๒๘,๓๖๐ คน

                             (๓) แรงงานฝีมือ วีซ่าเฉพาะทาง (Designated Activities) งานก่อสร้างและต่อเรือ

                                 รัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตแรงงานฝีมือชั่วคราวใน ๒ สาขา ได้แก่ สาขาก่อสร้าง และสาขาการต่อเรือโดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องเคยเป็นผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคใน ๒ สาขาดังกล่าวมาก่อน จะสามารถกลับมาทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้ โดยได้รับวีซ่าเฉพาะทาง (Designated Activities) สามารถทำงานได้ระหว่างปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๓ เท่านั้น และไม่มีการต่ออายุ โดยแต่ละคนจะทำงานได้อย่างมากไม่เกิน ๓ ปี จะได้รับค่าจ้างและสวัสดิการใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น ซึ่งจากข้อมูลองค์กร JITCO (Japan International Training Cooperation Organization) ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมดูแลองค์กรรับในประเทศญี่ปุ่นแจ้งว่า ผู้ฝึกงานไทยที่เคยเข้ามาฝึกปฏิบัติงานในสาขาก่อสร้างมีจำนวน  ๓๒๐ คน จนถึงปัจจุบันมีแรงงานไทยที่มาทำงานโดยใช้วีซ่าเฉพาะทางในลักษณะนี้ ในสาขาก่อสร้าง ๓๔ คน และสาขาการต่อเรือ ๔๗ คน

                            ผู้ฝึกงานและแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะได้รับค่าจ้างแล้วผู้ฝึกงานบางส่วนจะได้เรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งยังมีโอกาสได้เรียนรู้เทคนิควิธีการทำงานแบบญี่ปุ่น ฝึกฝนความอดทนและวินัยในการทำงาน ทำให้สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นแรงงานหรือผู้ประกอบการที่มีคุณภาพต่อไป

การบริหารจัดการแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย

                    รัฐบาลญี่ปุ่นมีการจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายสามารถแบ่งได้ ๓ ประเภท

                    (๑) แรงงานผิดกฎหมายที่เข้ามาโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว แรงงานผิดกฎหมายกลุ่มนี้ เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยกเว้นวีซ่าท่องเที่ยวเป็นเวลา ๑๕ วันให้แก่นักท่องเที่ยวไทย

                    (๒) แรงงานที่ทำงานผิดสถานภาพพำนัก เนื่องจากกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นกำหนดให้แรงงานสามารถทำงานได้ตามสถานภาพการพำนัก(วีซ่า) เท่านั้น แรงงานจึงต้องทำงานตามตำแหน่งที่ระบุในวีซ่าเท่านั้น แต่พบว่ายังมีผู้ที่ทำงานนอกเหนือจากสถานะภาพ (วีซ่า) ที่ได้รับ

                    (๓) นักเรียน ผู้ติดตาม และผู้ดำเนินกิจกรรมด้านวัฒนธรรม ทำงานพิเศษมากกว่าชั่วโมงทำงานที่ได้รับอนุญาต ซึ่งตามกฎหมายอนุญาตให้ทำงานได้ไม่เกินสัปดาห์ละ ๒๘ ชั่วโมง หรือ วันละ ๘ ชั่วโมงในช่วงปิดเทอม

                    หากทางการญี่ปุ่นตรวจพบแรงงานที่ทำงานผิดกฎหมาย จะถูกเนรเทศกลับประเทศและไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้เป็นเวลา ๕ – ๑๐ ปี ทั้งนี้นายจ้างที่จ้างงานแรงงานผิดกฎหมายจะถูกปรับไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ เยน

 

การเปิดรับแรงงานต่างชาติเพิ่มเติมในประเทศญี่ปุ่น

  • เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๑ รัฐสภาญี่ปุ่นได้ผ่านร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้สามารถอนุญาตให้แรงงานต่างชาติที่ไม่ใช่แรงงานฝีมือเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้ (เดิมเข้ามาได้เฉพาะในสถานะผู้ฝึกงานเทคนิค) ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศญี่ปุ่น กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๒ สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

      –    ภายใต้กฎหมายการเปิดรับแรงงานต่างชาติรูปแบบใหม่นี้ แรงงานต่างชาติในสาขาอาชีพที่มีความขาดแคลนในญี่ปุ่น (ในเบื้องต้นกำหนดไว้ ๑๔ สาขาอาชีพ) จะสามารถพำนักได้ภายใต้ ๒ สถานะ กล่าวคือ ๑) สถานะแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ แบบที่ ๑ ( Specified Skilled Worker (i) )  ซึ่งสามารถทำงานและพำนักในญี่ปุ่นได้ไม่เกิน ๕ ปี แบบต่อเนื่อง  แต่ไม่สามารถนำครอบครัวมาพำนักอาศัยด้วยได้ และ ๒) สถานะแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ แบบที่ ๒ ( Specified Skilled Worker (ii) )  ซึ่งสามารถทำงานและพำนักในญี่ปุ่นได้ต่อเนื่องแบบไม่มีกำหนด โดยสามารถนำครอบครัวมาพำนักอาศัยด้วยได้ ทั้งนี้ แรงงานต้องผ่านการทดสอบในด้านต่างๆ โดยผลการสอบจะกำหนดประเภทและสถานะการพำนัก

           –   มีการประมาณการว่าในอีก ๕ ปีข้างหน้านี้ จะมีการรับแรงงานในระบบใหม่จำนวน  ๓๔๕,๑๕๐ คน โดยแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่นจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานต่าง ๆ ที่จะทดสอบแรงงาน และรายละเอียดลักษณะงานหลักที่ทำในแต่ละสาขาอาชีพ ดังตาราง

 

 

กระทรวงที่ดูแล

ประเภทงาน

จำนวนคนที่รับ

ลักษณะงานหลัก

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ

บริบาล

๖๐,๐๐๐

ดูแลให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุในการอาบน้ำและทานอาหาร โดยปกติแล้วจะไม่มีการให้เข้าไปดูแลที่บ้าน

ทำความสะอาดอาคาร

๓๗,๐๐๐

ทำความสะอาดอาคาร

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม

งานผลิตชิ้นส่วนโลหะอุตสาหกรรม

๒๑,๕๐๐

งานหล่อ, งานขึ้นรูป, งานกดโลหะ

งานผลิตเครื่องจักร

๕,๒๕๐

งานกดโลหะ, งานเชื่อม, งานหล่อพลาสติก

งานเกี่ยวกับไฟฟ้า

๔,๗๐๐

งานประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, งานเชื่อม, งานหล่อพลาสติก

กระทรวงที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค คมนาคม และการท่องเที่ยว

งานก่อสร้าง

๔๐,๐๐๐

งานสร้างโครงไม้, งานโบกปูน, งานที่ใช้เครื่องจักรในการก่อสร้าง, งานเหล็กเสริมคอนกรีต

งานต่อเรือเดินสมุทร/

งานเกี่ยวเนื่องเรือเดินสมุทร

๑๓,๐๐๐

งานเชื่อม, งานทาสี, งานแปรรูปเหล็ก, งานนั่งร้าน, งานกัดกลึง

งานบำรุงรักษารถยนต์

๗,๐๐๐

งานบำรุงรักษาและตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์แบบวันต่อวัน, งานถอดประกอบ

งานภาคพื้นสนามบิน

๒,๒๐๐

งานสนับสนุนภาคพื้นเครื่องบิน. งานขนย้ายกระเป๋าและสัมภาระ

งานด้านที่พัก

๒๒,๐๐๐

งานต้อนรับลูกค้า,งานบริการลูกค้า, งานบริการด้านร้านอาหาร

กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง

งานเกษตร

๓๖,๕๐๐

งานจัดการด้านเกษตร, จำแนกและจัดส่งผลผลิตด้านการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์

งานประมง

๙,๐๐๐

งานประมงที่ใช้เรือจับปลา,การเลี้ยงสัตว์น้ำ

งานผลิตวัตถุดิบอาหาร/เครื่องดื่ม

๓๔,๐๐๐

งานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ยกเว้นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

งานร้านอาหาร

๕๓,๐๐๐

งานเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม, งานบริการลูกค้า, งานจัดการบริหารร้าน

 

     – รัฐบาลญี่ปุ่นได้วางแผนที่จะนำระบบการทดสอบเพื่อรับแรงงานตามระบบวีซ่าชนิดใหม่ (วีซ่าแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ แบบที่ ๑) ในสาขาที่มีความพร้อมที่จะทดสอบใน ๓ สาขาอาชีพ ได้แก่ งานด้านบริบาล  งานด้านที่พัก และงานร้านอาหาร โดยทั้ง ๓ สาขานี้อาจจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๒ สำหรับอีก ๑๑ สาขาที่เหลือจะเริ่มทยอยดำเนินการเมื่อมีความพร้อม

          – ผู้ที่เดินทางเข้ามาทำงานด้วยระบบการเป็นผู้ฝึกงานเดิมหากฝึกงานครบ ๓ ปี จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องผ่านการทดสอบและสามารถเปลี่ยนวีซ่าจากระบบผู้ฝึกงานเป็นวีซ่าทำงานแบบใหม่ได้ ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๒

ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผู้ฝึกงานจำนวนมากได้รับการเปลี่ยนสถานะของวีซ่า โดยเฉพาะผู้ฝึกงานในภาคเกษตรและภาคการก่อสร้าง

          – สำหรับวีซ่าแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ แบบที่ ๒ ซึ่งในหลักการต้องเป็นผู้ที่มีทักษะในระดับสูง อาจจะเริ่มจาก ๒ สาขาอาชีพ ได้แก่ งานก่อสร้างและงานต่อเรือ อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในเรื่องนี้

          –  เว็บไซด์กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น ได้ลงข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบภาษาญี่ปุ่นและการทดสอบทักษะด้านอาชีพสำหรับแรงงานต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในญี่ปุ่น ตามวีซ่าแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ แบบที่ ๑  สรุปได้ว่า

             ๑) ด้านภาษาญี่ปุ่น จะต้องผ่านมาตรฐานระดับ N ๔ ขึ้นไป (เป็นมาตรฐานภาษาญี่ปุ่นที่มีอยู่เดิม โดยจะแบ่งเป็น ๕ ระดับ ระดับ ๑ สูงสุด ระดับ ๕ ต่ำสุด) หรือผ่านการทดสอบ/ประเมินทักษะภาษาญี่ปุ่น ตามที่รัฐบาลจะได้กำหนด (ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ในระหว่างการกำหนดแบบทดสอบขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อใช้ทดสอบกับแรงงานที่จะนำเข้าด้วยวีซ่าระบบใหม่นี้ โดยอาจนำไปทดสอบในประเทศต้นทาง)

             ๒) ด้านทักษะอาชีพ จะต้องผ่านการทดสอบ/ประเมินทักษะตามลักษณะงานหลักของแต่ละประเภทงานที่จะเข้ามาทำงาน (รายละเอียดประเภทงานและลักษณะงานตามข้อมูลข้างต้น)

 โอกาสของแรงงานไทย

             ระบบวีซ่าทำงานใหม่นี้ เป็นมาตรการที่รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการเพื่อปิดช่องว่างในระบบการรับแรงงานต่างชาติด้วยระบบการฝึกงานแบบเดิม เนื่องจากในระบบการฝึกงาน เมื่อครบกำหนด (สูงสุดไม่เกิน ๕ ปี) จะไม่สามารถกลับเข้ามาด้วยวีซ่าผู้ฝึกงานได้อีก ทำให้นายจ้างที่ประสงค์จะรับแรงงานต่อเนื่องไม่สามารถทำได้ แต่ด้วย   วีซ่าระบบใหม่นี้ นายจ้างจะสามารถรับแรงงานทำงานได้อย่างต่อเนื่อง หากแรงงานสามารถสอบผ่านมาตรฐานที่ทางญี่ปุ่นกำหนด นับว่าได้เปิดโอกาสให้แรงงานกลุ่มนี้สามารถเดินทางกลับเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น สำหรับแรงงานที่ยังไม่เคยผ่านระบบการฝึกงาน หากสามารถเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่น และสอบผ่านได้ตามมาตรฐานที่กำหนดก็สามารถเดินทางมาทำงานได้เช่นกัน  อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับนายจ้างว่าประสงค์จะจ้างแรงงานไทยหรือไม่ รวมทั้งอัตราค่าจ้างที่นายจ้างเสนอว่าจะจูงใจให้แรงงานไทยสนใจมาทำงานที่ญี่ปุ่นหรือไม่ด้วย

                    สิ่งที่แรงงานไทยต้องเตรียมพร้อม ได้แก่

                        – ทักษะด้านภาษาญี่ปุ่น เนื่องจากจะต้องสอบวัดระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่นตามมาตรฐานที่ประเทศญี่ปุ่นจะกำหนด ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียดขั้นตอนการจัดสอบ

                        – ทักษะด้านอาชีพที่จะเข้าสอบ ใน ๑๔ กลุ่มสาขาอาชีพที่จะมีการเปิดรับสมัคร

                        ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่

                        – ปัญหาการหลอกลวงแรงงานเข้ามาทำงาน  โดยอาจใช้ช่องทางการชักจูงผ่าน สื่อโซเชียล

ปัญหาแรงงานไทยที่เข้าไปทำงาน ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

                    – ปัญหาของแรงงานไทยถูกกฎหมาย

  • การทำงานผิดประเภทวีซ่า
  • นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง เช่น ไม่จ่ายค่าล่วงเวลา ไม่ให้สลิปเงินเดือน
  • การไม่ทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งมักพบในกรณีที่นายจ้างเป็นคนไทยด้วยกันเอง
  • เกิดอุบัติเหตุในการทำงานแล้วนายจ้างไม่แสดงความรับผิดชอบ
  • แรงงานถูกยึดพาสปอร์ต

                    – ปัญหาของแรงงานไทยผิดกฎหมาย

  • อำนาจต่อรองกับนายจ้างน้อย เพราะมักจะถูกขู่ว่าจะนำส่งกรมตรวจคนเข้าเมือง
  • ไม่ได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคม และประกันแรงงานต่างๆ
  • มักจะต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงานไปเรื่อยๆ เพื่อหลบหนีการจับกุมของทางการญี่ปุ่น
  • มักจะถูกนายหน้าในประเทศญี่ปุ่นหลอกลวงว่าจะแนะนำงานให้

 

                                                  ………………………………………..


13380
TOP