Skip to main content

หน้าหลัก

ที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สนร. ญี่ปุ่น ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมงาน “JITCO Exchange Gathering 2023” จัดโดย JITCO

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น. (เวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง) นางสาวสดุดี กิตติสุวรรณ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น มอบหมายให้นางสาวเกศสุดา มงคลชาติ ที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) และนางสาวเยาวพา ประกายเกียรติ ผู้ช่วยดำเนินการ (ด้านการส่งเสริมการจ้างงานในต่างประเทศ) เป็นผู้แทนเข้าร่วมงาน “JITCO Exchange Gathering 2023” จัดโดยองค์การความร่วมมือในการฝึกงานด้านเทคนิคและแรงงานทักษะเฉพาะของประเทศญี่ปุ่น (Japan International Trainee & Skilled Worker Cooperation Organization: JITCO) ณ ห้องประชุม Golden Room ชั้น 2 อาคาร Keidanren Kaikan เขตชิโยดะ กรุงโตเกียว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีพบปะและแลกเปลี่ยนกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายจ้าง และองค์กรผู้รับในประเทศญี่ปุ่น
 
งาน “JITCO Exchange Gathering 2023” ในปีนี้ จัดขึ้นในหัวข้อ “Developing People, Exchanges and Friendship” ประกอบด้วยกิจกรรม 3 ช่วง ดังนี้
(1) พิธีเปิด โดย Mr. TAMOTSU Saito ตำแหน่ง Chairman of JITCO
(2) การบรรยายหัวข้อ “Review of Technical Intern Training Program and Specified Skilled Worker Program” โดยวิทยากรจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น (Mr. YUKI Nagata ตำแหน่ง Director, Policy Coordination Office, Immigration Services Agency) ซึ่งได้แบ่งปันข้อมูลความคืบหน้าร่างรายงาน Interim Report เกี่ยวกับการปรับปรุงระบบผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค (Technical Intern Training Program: TITP) และระบบแรงงานทักษะเฉพาะ (Specified Skilled Worker Program) ของรัฐบาลญี่ปุ่น คาดว่าร่างรายงานผลการประชุมสุดท้ายจะประกาศในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ (ประมาณเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2566) โดยภายหลังการประกาศร่างรายงานผลการประชุมสุดท้าย จะมีการหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่อไป และการบรรยายหัวข้อ “Business and Human Rights – Efforts required for the acceptance of foreign human resource” โดยวิทยากรจากสมาพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศญี่ปุ่น (Mr. KENICHI Tomiyoshi ตำแหน่ง Vice President/Secretary General, Japan Textile Federation) วิทยากรได้แนะนำแนวคิดเรื่อง due diligence ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการของผู้ประกอบการในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอของญี่ปุ่นซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้จำเป็นต้องมีการจ้างแรงงานต่างชาติ และแรงงานต่างชาติดังกล่าวเป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น การนำแนวคิดเรื่อง due diligence มาใช้จะทำให้ช่วยแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกลุ่มแรงงานต่างชาติได้
(3) พิธีมอบรางวัลการประกวดเขียนเรียงความภาษาญี่ปุ่น (Japanese Essay Contest Award Ceremony) ให้กับผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคต่างชาติที่มีผลงานดีเด่น ทั้งนี้ มีผู้ฝึกปฏิบัติงานชาวไทยส่งเรียงความเข้าประกวดในปีนี้จำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก อย่างไรก็ตาม สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นหวังว่าจะมีผู้ฝึกปฏิบัติงานชาวไทยได้มีโอกาสเข้ารับรางวัลและสร้างชื่อเสียงในปีต่อ ๆ ไป

547
TOP