Skip to main content

หน้าหลัก

ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศ

สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นขอประชาสัมพันธ์เผยแพร่การป้องกันอันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศ โดยกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีคนงาน 2 รายหมดสติในบ่อพักน้ำเสีย จนเสียชีวิตในวันที่ 19 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา ดังนี้

จากกรณีข่าวคนงานดับ 2 ราย ถูกไฟดูดหมดสติในบ่อพักน้ำเสีย เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565
ขอแจ้งเตือน!!! การป้องกันอันตรายที่คาดไม่ถึงจากการทำงานในที่อับอากาศ
 
🚨อุบัติเหตุจากการทำงานในที่อับอากาศมักจะรุนแรงถึงขั้นชีวิต
มากกว่าร้อยละ50 ของผู้เสียชีวิต จะเป็นผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บโดยขาดความรู้ ไม่มีมาตรการป้องกัน
ผู้ที่ทำงานในที่อับอากาศ เช่น ห้องเก็บปลาในเรือประมง
อุโมงค์ ถ้ำ บ่อ หลุม ห้องใต้ดิน ห้องนิรภัย ถังน้ำมัน ถังหมัก
ไซโล ท่อ เตา จึงควรเข้าใจความเสี่ยงของการทำงานลักษณะนี้
และมีความรู้ในการป้องกันและรับมือกับอุบัติเหตุในที่อับอากาศ
 
🚨สาเหตุการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากการทำงานในที่อับอากาศ
1.การขาดออกซิเจน
เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในที่อับอากาศ โดยร้อยละ 60 ของการเสียชีวิตในที่อับอากาศ เกิดจากการขาดออกซิเจน ในที่อับอากาศมักมีปริมาณออกซิเจนน้อย ถ้ามีออกซิเจนต่ำกว่า 19.5% โดยปริมาตร อาจจะทำให้ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตได้
2. การได้รับสารเคมีหรือก๊าซที่มีพิษ
ได้รับก๊าซต่างๆ มากเกินไป จนเป็นพิษต่อร่างกาย เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ฯลฯ
3.ปฏิกิริยาการเผาไหม้
การเกิดไฟ และการระเบิด อาจเกิดได้ในที่อับอากาศที่มีระดับของก๊าซที่ติดไฟง่ายสูง
4. อันตรายอื่นๆ
เช่น การจมในของเหลวหรือกองวัตถุดิบในไซโล ไฟฟ้าช็อต อันตรายจากเครื่องมือ และการพังทลายของโครงสร้าง เป็นต้น
 
📢การป้องกันเหตุร้าย
1. สัญลักษณ์ ป้ายเตือน ที่มองเห็นได้ง่าย
เช่น – ป้ายเตือน ข้อห้าม ข้อควรระวังเมื่อเข้าพื้นที่อับอากาศ
– เครื่องวัดระดับก๊าซต่างๆ ที่สำคัญ
– แผนผังสถานที่อับอากาศ
2. มีมาตรการความปลอดภัย
มีมาตรการความปลอดภัยในพื้นที่อับอากาศ เช่น ห้ามทำให้เกิดประกายไฟในพื้นที่ ต้องขออนุญาตเมื่อเข้าพื้นที่ ทางเข้าออกไม่มีสิ่งกีดขวาง มีกริ่งฉุกเฉินเพื่อให้ขอความช่วยเหลือได้ ขณะทำงานต้องมีผู้คอยช่วยเหลืออย่างน้อย 1 คน
3. เตรียมรับเหตุฉุกเฉิน
มีมาตรการ เครื่องมือในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น มีสายช่วยชีวิต (Life Line) เครื่องมือปฐมพยาบาล เครื่องช่วยหายใจ
4. อบรมให้ความรู้พนักงาน
สาเหตุการเสียชีวิตในที่อับอากาศมักเกิดจากการเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่นโดยปราศจากความรู้ในการรับมือ การอบรมพนักงานให้มีความรู้ในการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินจึงสำคัญมาก เช่น ผ่านการฝึกอบรมการกู้ภัย การปฐมพยาบาล และการช่วยชีวิตเบื้องต้น นอกจากนี้จะต้องมีการตรวจความพร้อมของร่างกาย ก่อนเข้าปฏิบัติงานอีกด้วย
 
ที่มา: กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข https://www.facebook.com/photo?fbid=409257301229518&set=a.303179935170589

721
TOP