Skip to main content

หน้าหลัก

สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นให้การต้อนรับผู้แทน Japan Resistance Spot Welding Association

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14.00 – 15.00 น. (เวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง) นางสาวสดุดี กิตติสุวรรณ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยนางสาวเกศสุดา มงคลชาติ ที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) และนางสาวเยาวพา ประกายเกียรติ ผู้ช่วยดำเนินการ (ด้านการส่งเสริมการจ้างงานในต่างประเทศ) ให้การต้อนรับผู้แทน Japan Resistance Spot Welding Association จำนวน 2 ราย ได้แก่ Mr. TAKEMOTO Yoshihisa ตำแหน่ง Representative Director และ Ms. WATANABE Mami ตำแหน่ง Administrative Manager ณ ห้องประชุม ชั้น 1 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
 
วัตถุประสงค์ในการพบหารือฯ ครั้งนี้ เพื่อขอความร่วมมือสำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นสนับสนุนข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของประเทศไทย โดยขอให้สถานประกอบการในประเทศไทยตอบแบบสอบถามตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น สำหรับการเพิ่มสาขางาน Spot Welding ในระบบการฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค ซึ่งสมาคมฯ ได้เคยเข้าพบเพื่อหารือและขอความร่วมมือกับนางสาวสดุดีฯ แล้วเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่ง Mr. TAKEMOTO ได้กล่าวขอบคุณว่าที่ผ่านมานางสาวสดุดีฯ ได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการสนับสนุนการเพิ่มสาขางานดังกล่าวในระบบการฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค และในครั้งนี้ก็ยินดีที่จะประสานงานเรื่องแบบสอบถามเพื่อให้ได้รับข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาคเอกชน
 
ในโอกาสนี้ นางสาวสดุดีฯ ได้ยืนยันการสนับสนุนเนื่องจากการเพิ่มสาขางานดังกล่าวในระบบการฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคไทยสามารถเข้ามาฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น และสามารถนำทักษะ/ความรู้/ประสบการณ์กลับไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในการทำงานที่ประเทศไทยด้วย รวมถึงเป็นการสนองนโยบายกระทรวงแรงงานที่จะขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศอีกช่องทางหนึ่ง
 
ทั้งนี้ Japan Resistance Spot Welding Association แจ้งข้อมูลเบื้องต้นว่า สาขางาน Spot Welding เป็นทักษะที่มีความจำเป็นในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ รถไฟ และตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ โดยหากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นอนุมัติการเพิ่มสาขางาน Spot Welding ในระบบการฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคแล้ว คาดว่าจะรับผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคต่างชาติปีละ 3,000 คน ในจำนวนนี้ต้องการผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคไทยประมาณ 1,000 – 1,500 คน กำหนดระยะเวลาในการฝึกงาน 3 – 5 ปี รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะพิจารณาขยายสาขาดังกล่าวในระบบแรงงานทักษะเฉพาะต่อไปด้วย

2246
TOP