สิทธิประโยชน์เงินคืนภาษีของคนงานไทยในประเทศญี่ปุ่น
การเสียภาษีและการยื่นขอคืนภาษี
การเสียภาษี
คนไทยที่ทำงานอยู่ในญี่ปุ่นจะต้องเสียภาษี 2 ประเภท คือ ภาษีเงินได้และภาษีท้องที่ โดยกฎหมายบังคับให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องหักเงินภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้โดยประเมินและนำส่งสำนักงานภาษีเขตทุกเดือน กรณีที่ลูกจ้างมีครอบครัวในอุปการะสามารถขอหักลดหย่อนภาษีได้ โดยกรอกรายละเอียดในใบแจ้งครอบครัวในอุปการะ (Fuyo Koujyoto Shinkokusho) และยื่นให้นายจ้างก่อนการจ่ายเงินเดือนงวดแรกในแต่ละปี และในการจ่ายเงินงวดสุดท้ายของปีนายจ้างจะทำการปรับภาษีให้ตรงกับเงินได้ที่จ่ายจริง ซึ่งนายจ้างจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายประจำปี (Kyuyo Shotoku no Gensenchoushuhyou) ให้ลูกจ้างภายในวันที่ 31 มกราคมของปีถัดไป เพื่อเป็นหลักฐาน กรณีที่ลูกจ้างลาออกจากงานนายจ้างจะต้องออกหนังสือรับรองดังกล่าวให้ภายใน 1 เดือน กรณีที่นายจ้างไม่ได้หักเงินภาษีลูกจ้างจะต้องยื่นชำระภาษีด้วยตนเอง ส่วนภาษีท้องที่ ลูกจ้างจะต้องชำระเองตามใบเรียกเก็บเงินจากสำนักงานเขตท้องที่อาศัยอยู่
การขอคืนภาษีเงินได้
กรณีที่นายจ้างหักภาษีเงินไว้เกินหรือได้ยื่นชำระไว้เกิน ลูกจ้างสามารถดำเนินการขอคืนภาษีได้ด้วยตนเอง โดยกรอกแบบคำร้องที่สำนักงานภาษีเขตที่อาศัยอยู่ พร้อมแนบเอกสารที่ระบุข้างล่างนี้
1. หลักฐานประจำตัว ได้แก่ หนังสือเดินทาง หรือบัตรที่ออกโดยทางการญี่ปุ่น เช่น บัตรประกันสุขภาพ
2. บัตรประจำตัวผู้พำนัก (Zairyu Card)
3. หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายประจำปี (Kyuyo Shotoku no Gensenchoushuhyou)
4. รายละเอียดของบัญชีธนาคารที่ต้องการให้โอนเงินคืนภาษี
5. ตราประทับ (อิงคัง)
6. หลักฐานการขอหักลดหย่อนสมาชิกครอบครัวในอุปการะ
6.1 หลักฐานแสดงตนของสมาชิกครอบครัวในอุปการะ เช่น ใบเกิด ทะเบียนสมรส ทะเบียนบ้าน พร้อมคำแปลภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษ
6.2 หลักฐานการส่งเงินไปประเทศไทยให้ครอบครัวในอุปการะภาษีเงินได้ที่ชำระไว้เกินจะได้รับคืนโดยการโอนผ่านเข้าธนาคารตามรายละเอียดที่ให้ไว้ในข้อ 4. ทั้งนี้ ใช้เวลาในการดำเนินการพิจารณาประมาณ 1 – 1 เดือนครึ่ง อนึ่ง การขอคืนภาษีเงินได้สามารถดำเนินการย้อนหลัง 5 ปีภาษี นับจากปีภาษีปัจจุบัน ส่วนภาษีท้องที่ไม่สามารถขอคืนได้
การขอคืนเงินกรณีที่ออกจากระบบประกันบำนาญ
คนไทยที่เข้าระบบประกันบำนาญของบริษัทหรือประกันบำนาญของรัฐบาลญี่ปุ่น และได้จ่ายเบี้ยประกันสมทบเกิน 6 เดือนขึ้นไป สามารถขอรับเงินก้อนคืนกรณีออกจากระบบประกันบำนาญดังกล่าวได้ ทั้งนี้ จะต้องแจ้งเรื่องออกจากระบบประกันพร้อมแจ้งเรื่องย้ายที่อยู่ออกจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสามารถยื่นเรื่องขอคืนเงินกรณีที่ออกจากระบบประกันบำนาญภายใน ๒ ปี นับจากวันเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่น เงินก้อนจะได้รับคืนเท่ากับเงินเบี้ยประกันสมทบที่จ่ายไปแล้วไม่เกิน 36 เดือน โดยเงินที่จะได้รับคืนจากระบบประกันบำนาญของบริษัทจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 20.42 % ส่วนระบบประกันบำนาญของรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ต้องถูกหักภาษี
ผู้เข้าประกันตนจะต้องกรอกแบบคำร้องขอรับเงินคืนกรณีออกจากระบบเป็นเงินก้อนให้ครบถ้วน โดยคำร้องจะต้องนำไปประทับตรารับรองของธนาคารที่ต้องการให้โอนเงิน พร้อมแนบเอกสารที่ระบุข้างล่างนี้
1. สำเนาหนังสือเดินทาง
1.1 หน้าแสดงข้อมูลของผู้ประกันตน (ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด สัญชาติ)
1.2 หน้าแสดงสถานภาพการพำนักในญี่ปุ่น
1.3 หน้าแสดงวันประทับตราเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่นครั้งสุดท้าย
2. รายละเอียดของบัญชีธนาคารที่ต้องการให้โอนเงิน
3. สมุดพกประจำตัวผู้เข้าระบบบำนาญ
เอกสารจะต้องส่งทางไปรษณีย์มายังหน่วยงานตามที่อยู่ข้างล่างนี้
Japan Pension Service
3-5-24, Takaido-nishi, Suginami-ku
Tokyo 168-8505
Japan
Tel. +81-3-6700-1165
อนึ่ง แบบคำร้องสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็ปไซต์ ต่อไปนี้ http://www.nenkin.go.jp/n/open_imgs/service/0000018649aEnHesxZQu.pdf
สิทธิประโยชน์ที่คนงานไทยพึงได้รับในกรณีต่างๆ จำแนกได้ดังนี้
1. กรณีเจ็บป่วย บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติภัยในการทำงานและระหว่างการเดินทางไปกลับที่ทำงาน
ระบบประกันอุบัติภัยในการทำงานและระหว่างการเดินทางไปกลับที่ทำงานคุ้มครองแรงงานต่างชาติทุกคนที่ทำงาน
กับนายจ้างไม่ว่าจะอยู่อย่างถูกกฎหมายหรือไม่ และไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำหรือชั่วคราวจะอยู่ในข่ายได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบประกันดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) ค่ารักษาพยาบาล
ลูกจ้างที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บในการทำงานสามารถเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของระบบประกันฯ
จนกว่าจะหายขาดหรือหมดความจำเป็นในการรักษา โดยมีขอบข่ายกำหนด ดังต่อไปนี้
1.1) ค่าตรวจโรค
1.2) ค่ายา ค่าอุปกรณ์
1.3) ค่าบำบัดโรค ค่าผ่าตัด
1.4) ค่าใช้จ่ายในการอภิบาลผู้ป่วยที่บ้านพัก
1.5) ค่าใช้จ่ายในการอภิบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสาธารณสุข
1.6) ค่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
อนึ่ง ค่าใช้จ่ายข้างต้นจะจ่ายให้ตามขอบข่ายที่รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นว่าจำเป็น กรณีที่ลูกจ้างมีเหตุจำเป็นไม่
สามารถเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบประกันฯ ได้ สามารถขอเบิกค่ารักษาพยาบาลภายหลังได้ อนึ่ง ลูกจ้างที่ได้รับอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางไปกลับที่ทำงานจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล 200 เยน ส่วนที่เหลือประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
2) ค่าชดเชยระหว่างการหยุดงานเพื่อรักษาตัว
ลูกจ้างที่หยุดงานเพื่อรักษาตัวและไม่ได้รับค่าจ้างจะได้รับค่าชดเชยตั้งแต่วันที่ 4 ของการหยุดงานจะได้รับค่าชดเชยร้อยละ 80 ของค่าจ้างพื้นฐานรายวัน (จากระบบประกันฯ ร้อยละ 60 และเงินชดเชยพิเศษร้อยละ 20)
3) ค่าชดเชยรายปีกรณีการเจ็บป่วยเรื้อรัง
ลูกจ้างที่รับการรักษาตัวเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือนและอาการป่วยหรือบาดเจ็บยังไม่หายเป็นปกติ อาการคงที่รักษาไม่ได้แล้ว จะได้รับการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยรายปี แบ่งเป็นระดับ 1 – 3 ขึ้นอยู่กับระดับความสามารถในการพึ่งพาตนเอง โดยลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชยรายปีตลอดชีวิต
ระดับ |
ค่าชดเชยรายปี (จ่ายรายปี) |
ค่าช่วยเหลือพิเศษ (เงินก้อนจ่ายครั้งเดียว) |
ค่าชดเชยเพิ่มพิเศษ (จ่ายรายปี) |
1 |
313 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
1,140,000 เยน |
313 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
2 |
277 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
1,070,000 เยน |
277 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
3 |
245 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
1,000,000 เยน |
245 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
4) ค่าชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะหรือสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะ
ลูกจ้างที่ได้รับการรักษาอาการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยสิ้นสุดแล้ว และลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะหรือสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะ จะได้รับการพิจารณาระดับของการสูญเสีย แบ่งเป็นระดับ 1 – 14 โดยระดับ 1 – 7 จะได้รับเงินชดเชยเป็นรายปีตลอดชีวิต ทายาทสามารถขอรับสิทธิประโยชน์แทนกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิต ส่วนระดับ 8 – 14 จะได้รับเป็นเงินก้อนจ่ายครั้งเดียว
ระดับ 1 – 7
ระดับ |
ค่าชดเชยรายปี (จ่ายรายปี) |
ค่าช่วยเหลือพิเศษ (เงินก้อนจ่ายครั้งเดียว) |
ค่าชดเชยเพิ่มพิเศษ (จ่ายรายปี) |
1 |
313 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
3,420,000 เยน |
313 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
2 |
277 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
3,200,000 เยน |
277 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
3 |
245 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
3,000,000 เยน |
245 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
4 |
213 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
2,640,000 เยน |
213 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
5 |
184 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
2,250,000 เยน |
184 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
6 |
156 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
1,920,000 เยน |
156 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
7 |
131 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
1,590,000 เยน |
131 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
ระดับ 8 – 14
ระดับ |
ค่าชดเชย (เงินก้อนจ่ายครั้งเดียว) |
เงินช่วยเหลือเป็นเงินก้อน (จ่ายครั้งเดียว) |
เงินช่วยเหลือพิเศษ (เงินก้อนจ่ายครั้งเดียว) |
8 |
503 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
650,000 เยน |
503 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
9 |
391 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
500,000 เยน |
391 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
10 |
302 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
390,000 เยน |
302 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
11 |
223 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
290,000 เยน |
223 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
12 |
156 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
200,000 เยน |
156 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
13 |
101 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
140,000 เยน |
101 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
14 |
56 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
80,000 เยน |
56 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
5) ค่าชดเชยกรณีต้องได้รับการอภิบาล
ลูกจ้างที่ได้รับค่าชดเชยกรณีการเจ็บป่วยเรื้อรัง ในข้อ 3) และลูกจ้างที่ได้รับค่าชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะหรือสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะข้อ 4) ระดับ 1 – 2 จะได้รับเงินช่วยเหลือกรณีต้องพึ่งพาผู้อภิบาล ซึ่งเป็นครอบครัวหรือบุคคลภายนอกก็ได้ ลูกจ้างจะ ได้รับค่าชดเชยตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินเพดานสูงสุดที่ได้ กำหนดไว้
6) ค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต
ครอบครัวของลูกจ้างที่เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติภัยในการทำงานและระหว่างการเดินทางไปกลับที่ทำงานมีสิทธิที่จะขอรับค่าชดเชยได้ ทั้งนี้ สมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในข่ายได้รับเงินประกันต้องเป็นไปตามเงื่อนไขอายุและคุณสมบัติที่ระบบประกันได้กำหนดไว้ เท่านั้น
จำนวนสมาชิก ในครอบครัว |
ค่าชดเชยรายปี (จ่ายรายปี) |
เงินช่วยเหลือเป็นเงินก้อน (จ่ายครั้งเดียว) |
ค่าชดเชยเพิ่มพิเศษ (จ่ายรายปี) |
1 คน |
153 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน (กรณีที่ภรรยาของลูกจ้างอายุ 55 ปีขึ้นไปหรือพิการจะได้รับ 175 วัน) |
3,000,000 เยน |
153 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน(กรณีที่ภรรยาของลูกลูกจ้างอายุ 55 ปีขึ้นไปหรือพิการจะได้รับ 175 วัน) |
2 คน |
201 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
201 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
|
3 คน |
223 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
223 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
|
4 คนขึ้นไป |
245 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน |
245 วันของเงินคำนวณพื้นฐาน |
7) ค่าทำศพ
ครอบครัวของลูกจ้างหรือผู้ทำหน้าที่จัดงานศพจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าทำศพ ตามเงื่อนไขข้อ 1) หรือข้อ 2) ในจำนวนเงินที่สูงกว่า
7.1) ค่าทำศพ 315,000 เยน + เงินช่วยเหลือ 30 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน
7.2) เงินช่วยเหลือ 60 วันของค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวัน
8) สิทธิประโยชน์อื่นๆ
ลูกจ้างสามารถขอรับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้ เช่น ค่าอวัยวะเทียม ค่าบำบัดหลังการผ่าตัด ค่าเล่าเรียนบุตร
ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดได้จากสำนักงานมาตรฐานแรงงานของญี่ปุ่น
เอกสารเบื้องต้นที่จำเป็นในการขอรับสิทธิประโยชน์จากระบบประกันอุบัติภัยในการทำงาน
ลูกจ้างจะต้องเตรียมเอกสารเบื้องต้น ต่อไปนี้ เพื่อยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ต่อสำนักงานมาตรฐานแรงงานในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ อนึ่ง เจ้าหน้าที่จะขอเอกสารประกอบเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น
1. หลักฐานของลูกจ้าง ได้แก่ หนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวผู้พำนัก (Zairyu Card) หรือบัตรประกันสุขภาพ
2. หลักฐานเกี่ยวกับการทำงาน ได้แก่ บัตรประจำตัวพนักงาน ใบรับเงินเดือน บัตรลงเวลาทำงาน
3. หลักฐานการรับการรักษาพยาบาล ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน และใบรับรองแพทย์
4. ใบคำร้องในการขอรับสิทธิประโยชน์ (ขอรับได้ที่สำนักงานมาตรฐานแรงงาน)
อายุความ
ลูกจ้างหรือครอบครัวสามารถยื่นเรื่องขอรับสิทธิประโยชน์ได้ภายใน 2 ปี มิเช่นนั้นจะหมดอายุความ ส่วนการขอรับสิทธิกรณีสูญเสียอวัยวะหรือสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะและกรณีเสียชีวิต ต้องยื่นเรื่องภายใน 5 ปี
2.
กรณีเจ็บป่วย บาดเจ็บ เสียชีวิต (ไม่ใช่สาเหตุจากการทำงาน) คลอดบุตร
ระบบประกันสุขภาพมี 2 ระบบ ได้แก่ ระบบประกันสุขภาพของลูกจ้างและระบบประกันสุขภาพของผู้ประกันตนอิสระ ทั้งนี้ จะต้องจ่ายเบี้ยประกันซึ่งขึ้นอยู่กับรายได้ของลูกจ้าง ลูกจ้างที่อยู่ทำงานอย่างผิดกฎหมายบางรายเป็นผู้ประกันตนอิสระได้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักงานเขตที่พำนักอาศัย
สิทธิประโยชน์
1)ค่ารักษาพยาบาล กรณีเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ ลูกจ้างแสดงบัตรประกันสุขภาพสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือคลีนิคที่อยู่ในระบบประกันได้ทุกโรค โดยประกันฯ จะออกค่าใช้จ่ายให้ร้อยละ 70 ส่วนลูกจ้างจะต้องรับผิดชอบเองร้อยละ 30 กรณีที่ลืมบัตรประกันสุขภาพลูกจ้างต้องสำรองค่าใช้จ่ายและขอเบิกคืนได้ในภายหลัง
1.1) ค่าตรวจโรค
1.2) ค่ายา ค่าอุปกรณ์
1.3) ค่าบำบัดโรค ค่าผ่าตัด
1.4) ค่าใช้จ่ายในการอภิบาลผู้ป่วยที่บ้านพัก
1.5) ค่าใช้จ่ายในการอภิบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสาธารณสุข
ส่วนค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ค่าอาหาร ค่าขนย้ายผู้ป่วยสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ได้ตามข้อกำหนด
2) ค่าชดเชยระหว่างการหยุดงานเพื่อรักษาตัว
ลูกจ้างที่หยุดงานเพื่อรักษาตัวและไม่ได้รับค่าจ้างจะได้รับค่าชดเชยตั้งแต่วันที่ 4 ของการหยุดงานจะได้รับ
เงินช่วยเหลือในอัตรา 2 ใน 3 ของค่าจ้างพื้นฐานรายวัน โดยจะเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 4 ของการหยุดงานเป็นต้นไป แต่ไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน ส่วนผู้ประกันตนอิสระอาจจะไม่อยู่ในข่ายได้รับค่าชดเชยขึ้นอยู่กับสำนักงานเขตที่รับประกัน
3) ค่าคลอดบุตร
ลูกจ้างที่ประกันตนกับนายจ้างและผู้ประกันตนอิสระจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าคลอดบุตรจำนวน 420,000 เยน ต่อบุตร 1 คน
4) เงินช่วยเหลือระหว่างการลาคลอดบุตร
ลูกจ้างที่ลางานก่อนการคลอดบุตร 42 วันและหลังคลอดบุตร 56 วันจะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตรา 2 ใน 3ของค่าจ้างพื้นฐานรายวัน ส่วนผู้ประกันตนอิสระอาจจะไม่อยู่ในข่ายได้รับเงินช่วยเหลือขึ้นอยู่กับสำนักงานเขตที่รับประกัน
5) เงินช่วยค่าทำศพ
ครอบครัวของลูกจ้างจะรับเงินช่วยค่าทำศพ จำนวน 50,000 เยน กรณีที่ไม่มีผู้รับเงินค่าทำศพ ระบบประกันจะจ่ายให้แก่ผู้จัดการงานศพตามค่าใช้จ่ายจริงแต่ไม่เกินวงเงิน 50,000 เยน ส่วนผู้ประกันตนอิสระจะได้รับตามวงเงินที่สำนักงานเขตที่รับประกันกำหนดไว้
อายุความ
ลูกจ้างหรือครอบครัวสามารถยื่นเรื่องขอรับสิทธิประโยชน์ได้ภายใน 2 ปี มิเช่นนั้นจะหมดอายุความ
เอกสารเบื้องต้นที่จำเป็นในการขอรับสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสุขภาพ
ลูกจ้างจะต้องเตรียมเอกสารเบื้องต้น ต่อไปนี้ เพื่อยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ อนึ่ง เจ้าหน้าที่จะขอเอกสารประกอบเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น
1. หลักฐานของลูกจ้าง ได้แก่ หนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวผู้พำนัก (Zairyu Card) หรือบัตรประกันสุขภาพ
2. หลักฐานการรับการรักษาพยาบาล ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน และรับรองแพทย์
3. ใบคำร้องในการขอรับสิทธิประโยชน์
3. กรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา หรือบอกเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้า
ลูกจ้างที่ทำงานในประเทศญี่ปุ่นไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตามจะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายมาตรฐานแรงงานของประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น กรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา หรือบอกเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้า สามารถยื่นคำร้องเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุชื่อ ที่อยู่ของผู้ร้องเรียนและของนายจ้าง หมายเลขโทรศัพท์หรือที่อยู่ที่สามารถติดต่อกลับได้ พร้อมแนบเอกสารดังนี้
3.1) หลักฐานของลูกจ้าง ได้แก่ หนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวผู้พำนัก (Zairyu Card)
3.2) หลักฐานเกี่ยวกับการทำงาน ได้แก่ สัญญาจ้าง บัตรประจำตัวพนักงาน ใบรับเงินเดือน บัตรลงเวลาทำงาน