Skip to main content

หน้าหลัก

อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นร่วมกับนางปรางทิพย์ กาญจนหัตถกิจ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ให้การต้อนรับและประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการส่งเสริมตลาดแรงงานไทยในสาขาบริบาลกับคณะผู้บริหารสมาคมโรงเรียนบริบาล บริษัทจัดหางานเอ็นเอ บางกอก จำกัด องค์กร Hozuma Sangyo Kyodo Kumiai และองค์กร NPO Sentan Iryou Kankyo Jouhou Center

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2565 เวลา 13.00 – 16.30 น. (เวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง) นางสาวสดุดี กิตติสุวรรณ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น และนางสาวเกศสุดา มงคลชาติ ที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ร่วมกับนางปรางทิพย์ กาญจนหัตถกิจ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ให้การต้อนรับและประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการส่งเสริมตลาดแรงงานไทยในสาขาบริบาลกับคณะผู้บริหารสมาคมโรงเรียนบริบาล บริษัทจัดหางานเอ็นเอ บางกอก จำกัด องค์กร Hozuma Sangyo Kyodo Kumiai และองค์กร NPO Sentan Iryou Kankyo Jouhou Center จำนวน 7 ราย ได้แก่ (1) ดร. สุภาวดี ดวงศิริ นายกสมาคมโรงเรียนบริบาล (2) ดร. บุศรา เชื้อดี อุปนายกสมาคมโรงเรียนบริบาล (3) อ. อุไรวรรณ โชคพระสมบัติ ครูผู้ประสานงานโครงการบริบาลไทย-ญี่ปุ่น (4) อ. เขมจิรา กวินโรธรรม ผู้บริหารสถานดูแลผู้สูงอายุอุดรอินเตอร์เนอร์สซิ่งโฮม (5) นายพีรภัทร ศรีสุขา กรรมการผู้จัดการบริษัทจัดหางานเอ็นเอ บางกอก จำกัด (6) Mr. Takashi MIZUMOTO หัวหน้าเลขาธิการองค์กร Hozuma Sangyo Kyodo Kumiai และ (7) Mr. Kazumi MANABE ประธานกรรมการ NPO Sentan Iryou Kankyo Jouhou Center ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
 
นางปรางทิพย์ฯ อัครราชทูตฯ ได้กล่าวต้อนรับคณะฯ และได้แลกเปลี่ยนข้อมูลว่า ที่ผ่านมางานบริบาลผู้สูงอายุระหว่างไทยและญี่ปุ่นได้มีการผลักดันในเวที JTEPA แต่ยังมีอุปสรรคหลายประการที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสภาพสังคมของญี่ปุ่น และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นกำหนด เช่น มาตรฐานด้านงานบริบาล เงื่อนไขด้านภาษา ขณะเดียวกันไทยก็ขาดแคลนแรงงานในสาขาบริบาลด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีความเห็นว่าไทยและญี่ปุ่นสามารถเอื้อประโยชน์ร่วมกันได้
 
คณะผู้บริหารสมาคมโรงเรียนบริบาลให้ข้อมูลว่า สมาคมฯ จัดตั้งมากว่า 8 ปี ปัจจุบันมีสมาชิกเป็นโรงเรียนบริบาลจำนวน 223 แห่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ได้รับอนุญาตภายใต้การรับรองของกระทรวงศึกษาธิการ สามารถผลิตบุคลากรในสาขาบริบาล (ผู้ดูแลเด็กและผู้สูงอายุ) ได้ปีละ 7,000 คน และนักเรียนในความดูแลส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยทำงานอื่นมาก่อนแล้วตกงาน/ไม่มีงานทำ จึงมา upskill เพื่อจะได้มีทักษะและสามารถทำงานบริบาลได้ แต่คนเหล่านี้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และมีความประสงค์จะเดินทางไปทำงานสาขาบริบาลในต่างประเทศ ดังนั้น การที่ผู้บริหารสมาคมฯ ได้เดินทางมาญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะมีโอกาสได้หารือเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการความร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่น Sentan Iryou Kankyo Jouhou Center องค์กร Hozuma Sangyo Kyodo Kumiai และบริษัทจัดหางานเอ็นเอ บางกอก จำกัด ในฐานะองค์กรผู้ส่ง เกี่ยวกับการจัดหาทุนการศึกษา ซึ่งนายจ้างญี่ปุ่นจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในระหว่างการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคของไทยสาขางานบริบาลก่อนเดินทางและหลังเดินทางมาที่ประเทศญี่ปุ่นผ่านระบบการฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค
 
นางปรางทิพย์ฯ ได้เสนอแนวคิดการดำเนินการแก่สมาคมโรงเรียนบริบาลว่าอาจใช้ต้นแบบของโครงการแพทย์ชนบท ซึ่งเป็นการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาแพทย์ โดยต้องใช้ทุนที่โรงพยาบาลในต่างจังหวัด ซึ่งจะทำให้แพทย์เข้าใจความต้องการและทราบปัญหาของคนไข้ในต่างจังหวัดอย่างแท้จริง กรณีงานบริบาลก็สามารถนำต้นแบบดังกล่าวมาปรับใช้กับนักเรียนสาขาบริบาลที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้เช่นกัน
 
นางสาวสดุดีฯ ได้รับมอบหมายจากนางปรางทิพย์ฯ ในการหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเสริมการขยายตลาดแรงงานไทยสาขาบริบาลในประเทศญี่ปุ่นกับคณะ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงแรงงาน สำหรับการฝึกงาน/ทำงานบริบาลในประเทศญี่ปุ่น จะต้องสอบผ่านตามมาตรฐานที่ประเทศญี่ปุ่นกำหนด หรืออาจกล่าวได้ว่า งานบริบาลนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตของคน จึงจำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มงวดและมีมาตรฐานตามที่ญี่ปุ่นกำหนด
 
นอกจากนี้ นางสาวสดุดีฯ ได้ขอรับรายละเอียดจากคณะและองค์กรฯ เกี่ยวกับโครงการทุนการศึกษาของนายจ้างญี่ปุ่นตามที่คณะได้กล่าวถึงด้วย โดยได้แสดงความคิดเห็นพ้องว่าต้องการสนับสนุนให้ผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค/แรงงานไทยในสาขาบริบาลได้มีโอกาสเดินทางมาฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค/ทำงานในประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการเตรียมความพร้อมผ่านการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านทักษะงานบริบาล ทักษะภาษาญี่ปุ่น และการทำงานตามวิถีแบบญี่ปุ่นตั้งแต่ในประเทศไทยก่อนเดินทางมาญี่ปุ่น และเมื่อมาฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค/ทำงานแล้ว จะได้มีรายได้ที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย สามารถนำประสบการณ์และถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้รับเพิ่มเติม เพื่อนำกลับไปใช้ในประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นยินดีจะติดตาม สนับสนุนและอำนวยความสะดวกเพื่อให้แรงงานไทยในสาขาบริบาลสามารถเข้ามาทำงานกับนายจ้างในญี่ปุ่นอย่างราบรื่นต่อไป

1597
TOP